คลัสเตอร์ ติดเชื้อพุ่ง เมื่อโควิด-19 ไม่หายไป ก็ต้องทำให้ผลกระทบลดลง

แชร์

Loading

คลัสเตอร์ใหม่ ยอดติดเชื้อพุ่ง วนเวียนไปมาอยู่แบบนี้มาเกือบ 2 ปี จนเหมือนว่า เราอาจจะต้องใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสนี้…ในเมื่อโควิด-19 ไม่หายไป

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ “พวกเรา” ทั้งหลายจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดที่มีต่อไวรัสร้าย “โควิด-19” นี้

ในช่วงหลายวันที่ผ่านมา เกิดกระแสข่าวแพร่สะพัดทั่วโซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์ถึงการปรากฏ “คลัสเตอร์ใหม่” ในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดต่างๆ อาทิ นครศรีธรรมราช และสมุทรปราการ หรือแม้แต่คลัสเตอร์โรงเรียน ที่สร้างความกังวลกันจนเครียด เพราะนั่นมีความเป็นไปได้ว่า สถานที่หรือสิ่งรอบๆ คลัสเตอร์นั้นจะได้รับผลกระทบ

แม้แต่ภาพใหญ่เอง หากปรากฏข่าวว่า ประเทศนั้น ประเทศนี้ พบการติดเชื้อจำนวนมากจนเป็นนิวไฮในรอบหลายเดือน หรือหลายสัปดาห์ ก็จะทำให้หลายฝ่ายจับตามอง รวมถึงสร้างความกังวลต่อการ “เปิดประเทศ” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในปีช่วงโค้งท้ายปีนี้ (2564)

หากดูจากยอดติดเชื้อรายใหม่ ณ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เห็นได้ว่าลดลงกว่าช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนพอสมควร แม้แต่การเสียชีวิตรายวันก็ลดลงมาก

“นี่เป็นสิ่งๆ หนึ่งที่เรากำลังจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน และตราบเท่าที่มันไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดูแลสุขภาพหรือสาธารณสุขทั้งหมด ฉันก็คิดว่า เราสามารถอยู่ร่วมกับมันได้”

ริชาร์ด เวบบี นักวิจัยด้านโรคติดเชื้อ ประจำเซนต์จูด มองว่า ไวรัสโคโรนาไม่ใช่สิ่งที่สามารถหลบหลีกได้ตลอดไป ดังนั้น จึงต้องเตรียมตัวในการระมัดระวังถึงโอกาสที่อาจจะสัมผัสโรคไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มองว่า เราจะต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ นั่นก็คือ ผลการศึกษาในอดีตที่ผ่านมาอันเกิดจาก “ไวรัสโคโรนา ที่ทั้งหมดนั้นท้ายที่สุดได้กลายเป็น “โรคประจำถิ่น”

ในตอนยังไม่มีการปรากฏของ “โควิด-19” ช่วงทศวรรษที่ 1980 (พ.ศ. 2523-2532) แพทย์ประจำโรงพยาบาลในอังกฤษได้พิเคราะห์อย่างรอบคอบเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสของอาสาสมัคร 15 ราย ที่ส่งผลให้ป่วยเป็น “ไข้หวัด” ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ อาสาสมัครผู้ใหญ่ 15 ราย มีเพียง 8 คนเท่านั้นที่มีอาการพัฒนาไปสู่ไข้หวัด หมายความว่าอีกจำนวนหนึ่งที่เหลือไม่มีอาการปรากฏชัด

หลายปีต่อมา แพทย์ก็ได้ทำการทดลองซ้ำๆ อีกครั้ง โดยพบว่า จากผู้ติดเชื้อก่อนหน้า มีเพียง 6 รายที่กลับมาติดเชื้อซ้ำ แต่การติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ ไม่มีอาการพัฒนาไปสู่อาการอื่นๆ ที่รุนแรง

นั่นจึงเกิดข้อสันนิษฐานว่า ภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรนาจะลดลงเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว และจะมีการติดเชื้ออีกครั้งเป็นเรื่องปกติ เพียงแค่ว่าผลลัพธ์ที่ตามมาภายหลังการติดเชื้อจะมีอาการน้อยลงมาก จนแม้กระทั่งไร้อาการ ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในเวลาต่อไป… พวกเราทั้งหมดอาจจะเคยประสบการติดเชื้อมากกว่า 1 ครั้งได้

ส่วนคำถามที่ว่า วิกฤติโควิด-19 จะจบลงเมื่อไร?

ผู้เชี่ยวชาญประเมิน “ฉากทัศน์ที่ดีที่สุด ไว้ว่า จากการอุบัติใหม่ของ 4 ไวรัสโคโรนานั้น ล้วนส่งผลให้เป็น “ไข้หวัด” ดังนั้น ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดน่าจะจบตัวที่ 5! จากกรณีนี้ โควิด-19 จึงอาจมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะกลายเป็น “ไข้หวัด” ที่สามารถปรากฏขึ้นมาได้บ่อยๆ โดยส่วนมากจะมีอาการธรรมดา ส่วนอนาคต…อาจยากที่จะจินตนาการได้ว่า หอผู้ป่วยหนัก หรือ “ไอซียู” จะเต็มซ้ำอีกครั้งเหมือนเช่นสายพันธุ์เดลตาระบาดรวดเร็วหรือไม่ แต่ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตามการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า Pandemic จะจบลง

ที่ผ่านมา การที่ยอดผู้ป่วยติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นผลลัพธ์จากการอุบัติใหม่ของไวรัสโคโรนา ซึ่งนั่นนับเป็น “สิ่งแปลกใหม่” สำหรับระบบภูมิคุ้มกันอ่อนประสบการณ์ในร่างกายเรา

แต่จนถึงตอนนี้และในอนาคต หากพวกเราเพิ่มภูมิคุ้มกันได้อย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นผลจากการฉีดวัคซีนหรือเกิดจากการติดเชื้อก็ตาม ซึ่งหากมีภูมิคุ้มกันขั้นแรกอย่างครอบคลุม ก็จะทำให้การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตจากโควิด-19 มีจำนวนน้อยลง อีกทั้งหากมีการบูสเตอร์ (เข็ม 3) การศึกษา ณ เวลานี้ ก็แสดงให้เห็นว่าจะสามารถช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันเป็นระยะๆ ได้ด้วยเช่นกัน และนั่นจะทำให้ไวรัสโคโรนาปรับเปลี่ยนจาก Pandemic ไปสู่สิ่งที่นักระบาดวิทยาเรียกว่า Endemic หรือ “โรคประจำถิ่น” ในจุดที่ไม่ได้มีผลกระทบกับชีวิตเรามากเท่าไรนัก

หมายความว่า หากภูมิคุ้มกันจะนำไปสู่การลดลงเรื่อยๆ ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่เมื่อถึงจุดที่ภูมิคุ้มกันค่อยๆ ลดลงตาม ก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้ออีกครั้ง พัฒนาการติดเชื้อ ยอดผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น วนเวียนไปมาในลักษณะนี้ แต่อาการจะยังไม่รุนแรงมากนัก เป็นอาการทั่วไปที่พอจะรับได้

ปัจจุบัน ณ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ดำเนินการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 7,790 ล้านโดส ใน 184 ประเทศ โดยประเทศที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ (2 เข็ม เว้นวัคซีนจอห์นสันฯ 1 เข็ม) เกิน 70% ขึ้นไป ยังคงมีจำนวนน้อย อย่างไทยนั้น แม้จะฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้วเพียง 56.3% เท่านั้น แต่ก็นับว่าดีกว่าหลายประเทศมาก ขณะเดียวกัน การฉีดวัคซีนเข็ม 1 แล้วอยู่ที่ 67.1% ส่วนบูสเตอร์อยู่ที่ 4.4%

ใดๆ ก็ตาม…กว่าที่เราจะไปถึงจุดของการเป็น “โรคประจำถิ่น” ได้นั้น ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับ “ตัวคุณเอง” ด้วย

ถ้อยคำที่ย้ำออกมาเสมอจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางสาธารณสุข และเราได้ยินกันมาตลอด นั่นคือ ไม่ว่าจะไปถึงจุดๆ นั้นหรือไม่ หรือว่ากลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรจะลดความระมัดระวังหรือการป้องกันทั้งหมดลง ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัยจึงยังจำเป็น ยิ่งทำให้กราฟผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่แบนราบลงได้เท่าไร ก็ช่วยลดภาระในโรงพยาบาลได้มากเช่นกัน

แต่ข้อสำคัญที่ต้องพึงระวังในฐานะผู้นำทั้งหลาย คือ การไม่ควรเพิกเฉยกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มที่อยากฉีด แต่ยังไม่ได้ฉีด เวลาที่มีอยู่นี้จึงต้องรีบเร่งหาจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้กับพวกเขาได้มากที่สุด ส่วนคนที่ไม่อยากฉีดหากปล่อยไว้ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน หากสังเกตภาพจากหลายๆ ประเทศจะเห็นว่า เริ่มมีการออกมาตรการจำกัดสิทธิ์ในกลุ่มเหล่านี้แล้ว เพราะกังวลการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เกิดข้อถกเถียงในหลายมุมมอง บ้างเห็นด้วย เพราะเลือกเองก็ต้องยอมรับความเสี่ยงเอง บ้างไม่เห็นด้วย เพราะกระทบต่อสิทธิ์ที่ควรได้รับกระทบเสรีภาพในการใช้ชีวิต

จากถ้อยคำหนึ่งของผู้เชี่ยวชาญที่บอกว่า หากมองในมุมเลวร้าย การปล่อยให้ไวรัสชอนไชร่างกายคนไม่ฉีดวัคซีน จะทำให้พวกเราส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ไปถึงจุดที่เรียกว่า “โรคประจำถิ่น” ได้เร็วที่สุด แต่นั้นก็จะคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในระหว่างทาง

หากย้อนกลับไปดู Goal ดั้งเดิมที่ตั้งไว้ของการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในเบื้องต้น ก็จะตอบคำถามได้ว่า วัคซีนมีขึ้นเพื่อการป้องกันจากอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

การฉีดวัคซีนไม่ว่ายี่ห้อใดในตอนนี้ตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับแล้ว…จึงเป็นหนทางที่ดีเพียงพอในเวลานี้ เพราะการได้รับวัคซีนและเข้ารับการรักษาอย่างย่อมดีกว่า

ไม่เพียงเท่านั้น การนำไปสู่การเป็น “โรคประจำถิ่น” ก็ขึ้นอยู่กับว่า ตัวไวรัสจะมีการกลายพันธุ์อีกจำนวนเท่าใดด้วย เช่นที่เกิดสายพันธุ์เดลตาขึ้น

มาจนถึงตอนนี้ วัคซีนยี่ห้อต่างๆ ยังคงสามารถทำหน้าที่ป้องกันอาการป่วยหนักขั้นวิกฤติได้อย่างดีเป็นไปตามที่คาดหวังไว้ แต่การสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ที่วางเป้าหมายไว้เพื่อปกป้องพวกเราทั้งหมดกลับเหมือนว่าจะยังห่างไกล

หากกำลังกังวลว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้วทำไมยังติดเชื้อพุ่งอยู่ ก็ต้องย้อนกลับไปทบทวนเป้าหมายดั้งเดิมอีกครั้ง เพราะในต่างประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนมากก็ยังพบการติดเชื้อสูง แต่จำนวนการเสียชีวิตหรืออาการหนักลดลงแล้ว

แต่การเป็น “โรคประจำถิ่น” นอกจากขึ้นอยู่กับว่า การออกฤทธิ์ป้องกันของภูมิคุ้มกันต้านไวรัสจะลดลงรวดเร็วมากแค่ไหนแล้ว ยังมีอีก 2 ปัจจัย ได้แก่ 1) ระบบภูมิคุ้มกันจู่โจมไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ได้เร็วแค่ไหน และ 2) ไวรัสโคโรนาพัฒนาได้เร็วแค่ไหนเช่นกัน ในกรณีการเล็ดลอดติดเชื้อ (หลบหลีกการดักจบของวัคซีน) ก็อาจจะต้องใช้วิธีการบูสเตอร์

โดยจากการศึกษาในช่วงทศวรรษ 1990 บรรดาแพทย์ค้นพบว่า อาสาสมัครที่ไม่ติดเชื้อในครั้งแรกมีความเป็นไปได้อย่างมากว่าจะติดเชื้อเมื่อมีการปรากฏไวรัสโคโรนาในปีต่อมา เมื่อเทียบกับอาสาสมัครที่มีอาการป่วยในครั้งแรก บอกเป็นนัยได้ว่า มากกว่าการมีอาการป่วย คือ การป้องกันที่มากกว่า

นอกจากคนจะมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะทั้งการฉีดวัคซีนหรือจากการติดเชื้อ อีกด้านหนึ่งก็อย่าลืมว่า ไวรัสเองก็มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาด้วยเช่นกัน เมื่อมันเจออุปสรรคก็ย่อมหาหนทางหลบหลีกภูมิคุ้มกัน นี่เป็นคำอธิบายผลสรุปโดยธรรมชาติของการดำรงชีวิตร่วมกับไวรัสที่แพร่กระจายอยู่รายล้อม

จากกรณีที่ดีที่สุดที่เอ่ยถึงไปในตอนต้น โควิด-19 ก็จะมารูปแบบเดียวกับที่ผ่านมา โดย สตีเฟน มอร์ส นักระบาดวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มองว่า หากภาระที่เกิดจากโรคไม่สูงมากจนเกินไป พวกเราก็น่าจะยอมรับได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตที่ลดลงไม่ได้ชี้วัดผลกระทบทั้งหมดของโควิด-19 เสียทีเดียว

ที่ผ่านๆ มามีการย้ำเตือนตลอดถึงอาการลองโควิด (Long Covid) ที่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลพิสูจน์แน่ชัดว่า วัคซีนช่วยปกป้องจากอาการลองโควิดได้ดีเพียงใด แต่ผู้เชี่ยวชาญก็เห็นพ้องกันว่า ระบบภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการฉีดวัคซีนจะเป็นการเตรียมความพร้อมที่ดีในการช่วยหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากไวรัส

ท้ายที่สุด พวกเราทั้งหลายต้องรับรู้ไว้ว่า “โควิด-19” ไม่มีทางลดลงไปถึงศูนย์ได้ แต่จะกำลังลดลงไปในระดับที่พวกเราค้นพบว่าอยู่ในจุดที่ยอมรับได้

ฉะนั้น แม้ว่าเมื่อถึงจุดเป็น “โรคประจำถิ่น” การทนใช้ชีวิตกับไวรัสโควิด-19 อาจจะทำให้รู้สึกแปลกๆ ในตอนนี้ แต่ต่อไปจะเป็นความปกติ.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/