บอร์ดดีอี ไฟเขียวพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ รองรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
“บิ๊กตู่” นั่งหัวโต๊ะประชุม คกก.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เห็นชอบพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐ รองรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตั้งเป้าดึงหน่วยงานรัฐเข้าใช้งาน 200 แห่งใน 18 เดือน
วันที่ 18 พ.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2564 (ผ่านระบบ Video Conference) เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมประชุม
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญของการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการดำเนินการด้านดิจิทัลของประเทศ มุ่งให้ประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่สามารถพัฒนาต่อยอดจากดิจิทัลได้ตลอดเวลา เพื่อให้แข่งขันได้ในเวทีนานาชาติ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่โครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน (Digital Community Center Project) ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในการประชุม World Summit on the Information Society Forum หรือ WSIS Forum 2021 จึงต้องเร่งพัฒนาให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางของอาเซียนต่อไป
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลว่าเป็นประเด็นสำคัญทั้งในและนอกประเทศ ขอให้ติดตามประเมินแนวทางของไทยอย่างต่อเนื่องว่าสอดคล้องกับแนวทางของต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดข้อจำกัดของการทำธุรกิจระหว่างประเทศ และให้เป็นไปอย่างรัดกุม วันนี้แพลตฟอร์มดิจิทัลกำลังครองโลก เป็นรูปแบบธุรกิจที่ช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสมือนตัวกลางระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิตในภาคส่วนต่างๆ จึงอยากให้ภาครัฐพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการกับประชาชนเข้าถึงการใช้บริการในราคาถูก เชื่อมโยงภาครัฐด้วยกันได้ ทั้ง สุขภาพ โควิด-19 ท่องเที่ยว จัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนภายใต้โครงการ แผนงานต่างๆ ต้องมีความชัดเจนทั้งแผนปฏิบัติการและแผนการใช้งบประมาณด้วย
ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีชื่นชมการประชุมว่ามีประโยชน์ ขอให้ทุกคนช่วยกันทำงานเพื่อประเทศ เพื่อคนไทยทุกคน วันนี้ต่างประเทศชื่นชมไทย บริษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ทั้งขนาดใหญ่ขนาดเล็กที่ลงทุนอยู่ในประเทศไทย และที่จะมาลงทุนในประเทศไทย เห็นว่าประเทศไทยให้ความสำคัญกับดิจิทัล อำนวยความสะดวก ปลดล็อกกฎหมายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ ผลักดันและร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไปในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ความเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายการพัฒนาแพลตฟอร์มภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Government Platform for PDPA Compliance : GPPC) เพื่อเป็นกรอบทิศทางและเป้าหมายการพัฒนาแพลตฟอร์มฯ ช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ เพื่อให้บริการหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ลดภาระด้านงบประมาณในภาพรวมของภาครัฐ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 (1 ปี 6 เดือน) ดำเนินการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางฯ และส่งเสริมให้มีการใช้งานแพลตฟอร์มกลางฯ ไปยังหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 200 หน่วยงาน อบรมบุคลากร 2,000 คน
- ระยะที่ 2 ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์มฯ ในภาคเอกชน และทำการติดตามประเมินผลการใช้งานแพลตฟอร์ม
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการจัดทำ “บัญชีบริการดิจิทัล” เพื่อขึ้นทะเบียนบริการด้านดิจิทัลของ Digital Startup และผู้ประกอบการดิจิทัล (Digital Provider) ที่มีมาตรฐาน พร้อมผลักดันบัญชีบริการดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ ยังเห็นชอบให้ดำเนินการขับเคลื่อนบัญชีบริการดิจิทัล ในภาคเอกชนและภาคประชาชน โดยผลักดันผ่านกลไกนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายภาษี เป็นต้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการดิจิทัลไทยในวงกว้าง.
ที่มา : https://www.thairath.co.th/