ทางเลือก “ไม่ฉีดวัคซีน” กับสิทธิ์ที่ถูกจำกัด ในห้วงโควิด-19 ที่ไร้แววยุติ

แชร์

Loading

เหลือเวลาอีกเพียงแค่เดือนเดียวจะหมดปี 2564 แต่วิกฤติโควิด-19 ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติลงเสียที แม้จะมีบางส่วนเริ่มผ่อนคลาย และเปิดประเทศกันไปบ้างแล้ว นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะหายใจได้โล่งแบบ 100% โดยเฉพาะ “ฤดูหนาว” นี้ ที่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่พุ่งทะยานขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

และแม้จะผ่านมาจนถึงตอนนี้ ก็ต้องยอมรับว่า “วัคซีนโควิด-19” ที่มีหลากหลายยี่ห้อ (ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, แอสตราเซเนกา, สปุตนิกวี, ซิโนฟาร์ม, ซิโนแวค ฯลฯ) ยังคงเป็น “อาวุธที่สำคัญที่สุด” ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19

แน่นอนว่า เมื่ออาวุธในการปราบปรามเชื้อไวรัสร้ายถือกำเนิดขึ้นมา ก็ทำให้หลายๆ ประเทศต่างมุ่งหน้าติดต่อขอสั่งซื้อกันจ้าละหวั่น ยิ่งยี่ห้อไหนได้รับการยอมรับในวงกว้างว่าประสิทธิภาพยอดเยี่ยมเหนือใคร ใบจองก็ล้นทะลักเต็มโต๊ะ รอคิวยาวหลายเดือนหรือข้ามปีก็มี

นั่นจึงทำให้เกิด “ปัญหา!”

เมื่อวัคซีนโควิด-19 กลายเป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ ขณะเดียวกัน โรคติดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นกลับเป็นวิกฤติสาธารณสุขที่โดนกันถ้วนหน้าทั่วโลก ก็ส่งผลให้กลายเป็นข้อถกเถียงถึง “ความเหลื่อมล้ำ” ในการเข้าถึงวัคซีน ระหว่างประเทศรายได้สูงและประเทศรายได้ต่ำ หรือแม้แต่ในระดับชาติเองก็เกิดข้อถกเถียงเช่นเดียวกัน ซึ่งไทยเองก็ไม่พลาดที่จะเกิดประเด็นนี้กับเขาด้วย กับภาวะ “ฉีดกระจุก วัคซีนไม่กระจาย!”

อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทยขยับอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน มียอดการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 86,890,826 โดส เหลือเวลาอีก 44 วัน ตามเป้าหมายดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ได้ 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี ซึ่งหากหักลบจากเป้าก็เหลืออีก 13,109,174 โดสที่ต้องทำให้ได้ หมายความว่า ในระยะเวลาที่เหลืออยู่นี้ ต้องฉีดให้ได้อย่างน้อยวันละ 297,936 โดส!

ถ้าย้อนดูอัตราการฉีดเฉลี่ยต่อวันในช่วงที่ผ่านๆ มา ก็ต้องยอมรับว่า การฉีดให้ได้วันละ 3 แสนโดสนั้น ไทยทำได้สบายมากๆ เพราะก่อนหน้านั้นก็เคยทำมาแล้ว 5 แสน ถึง 1 ล้านโดส ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ไทยจะสามารถพิชิตเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ได้สำเร็จ!

แต่จากคำประกาศของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดได้มีการขยับเป้าหมายว่าจะทำให้ได้ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็เท่ากับว่า 13,109,174 โดส จะต้องฉีดให้ครบภายใน 13 วัน หรือฉีดเฉลี่ยวันละ 1,008,398 โดส

ทีนี้… นอกเหนือปัญหาฉีดกระจุกไม่กระจายแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง “ปัญหา” ที่ไม่ได้เป็นแค่ระดับชาติ แต่เป็นระดับโลก นั้นคือ “ไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19” เป็น “ทางเลือก!”

ซึ่งคนไทยในจำนวนกว่า 11 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 สักเข็มเดียว นอกจากการรอรับวัคซีนโมเดอร์นา หรือวัคซีนอื่นๆ ที่ยังกระจายมาไม่ถึงแล้ว ยังมีกรณีที่เป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก สำหรับการเลือกที่จะไม่ฉีดวัคซีนโดยสมัครใจ ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่อาจมาจากความหวาดกลัวและวิตกกังวลจากกระแสข่าวต่างๆ เกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียง จนทำให้หลายพื้นที่มีอัตราการฉีดวัคซีนค่อนข้างต่ำ นำไปสู่การออกมาตรการเชิงรุก ทั้งการค้นหาและติดตามคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน รวมถึงการเชิญชวนผ่านแคมเปญต่างๆ

แต่ที่น่าจับตามากกว่านั้น คือ การออก “มาตรการ” ที่อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิ์บางอย่างในการใช้ชีวิตเหมือนเช่นคนอื่นๆ ทั่วไป ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แค่กับ “คนไม่ฉีดวัคซีน” เท่านั้น!

“ทางเลือก แลกสิทธิ์” มาตรการเข้มที่ “รัฐบาล” จำต้องบังคับใช้!

ก่อนหน้านี้ การจำกัด “สิทธิ์” ที่ควรได้รับ เคยจะเกิดขึ้นผ่านมาตรการ COVID-FREE Setting ที่ออกมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 กับเงื่อนไขที่ระบุว่า ต้องได้รับ “วัคซีนครบเกณฑ์” หรือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วเท่านั้น ถึงจะได้ใบผ่านคลายล็อกดาวน์ธุรกิจบางประเภท เช่น ร้านอาหาร ฯลฯ แบบเต็มรูปแบบ ในพื้นที่เสี่ยง 29 จังหวัด

จนเกิดข้อคำถามตามมามากมายว่า เงื่อนไขเช่นนี้สมเหตุสมผลแล้วหรือไม่ ในเมื่อยามนั้นคนที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์ หรือครบ 2 เข็ม แค่เพียง 10% กว่าเท่านั้น สุดท้ายจึงต้องพับไปก่อน…

อ่านเพิ่มเติม: วัคซีน 2 เข็ม ใบผ่านคลายล็อกดาวน์เต็มรูปแบบ เงื่อนไขที่ได้สิทธิ์ไม่ถึง 20%

แต่พอมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะในไทยเอง หรือในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 มีความคืบหน้าไปมาก แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กลับเพิ่มขึ้นไม่หยุด หรือยังไม่มีทีท่าชะลอตัวลง ขณะเดียวกันก็ไม่อาจปิดประเทศต่อไปได้อีกแล้ว เพราะอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศที่จะยิ่งเลวร้ายจนยากฟื้นกลับ ก็ทำให้ “บางประเทศ” งัดมาตรการที่มีเงื่อนไขเข้มงวดเหล่านี้ออกมาอีกครั้ง โดยมีจุดมุ่งหมายไปยัง “คนไม่ฉีดวัคซีน”

แน่นอนว่า มาตรการเข้มที่จะมี “เงื่อนไข” เฉพาะ หากพิจารณาดีๆ จุดมุ่งหมายนั้นอยู่ที่กลุ่มคนที่มองว่า “เมื่อร่างกายเป็นของเรา ก็เป็นเสรีภาพของเราในการตัดสินใจ ฉะนั้น การฉีดวัคซีนหรือไม่ฉีดวัคซีนย่อมเป็นทางเลือก”

โดยเหตุผลของกลุ่มคนที่ออกมาประท้วงการจำกัดสิทธิ์ที่มีวัคซีนโควิด-19 เป็นเงื่อนไข ระบุว่า การจำกัดสิทธิ์ที่พวกเขาควรได้รับตามปกติ กำลังปูทางไปสู่การเลือกปฏิบัติโดยสมบูรณ์ต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

แต่กระนั้น หลากประเทศก็ยังเลือกเมินเฉย แล้วงัด “เงื่อนไข” ในการล็อกดาวน์คนไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ต่อไป

สำหรับไทย ณ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีข้อเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า ขณะนี้กำลังมีการหารือถึงรายละเอียดของมาตรการบังคับต่างๆ อาทิ ต้องได้รับการยืนยันว่าฉีดวัคซีนแล้วถึงจะสามารถเข้าสถานที่สาธารณะได้ หรือใช้บริการในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุผลว่า คนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจะมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อโควิด-19 ได้สูงกว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

แล้วประเทศอื่นๆ มีที่ไหนบ้างที่ “ล็อกดาวน์คนไม่ฉีดวัคซีน!”

1. ออสเตรีย

นายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ ชาลเลนแบร์ก กล่าวถึงมาตรการนี้ว่า “มันคือ ความจำเป็น!”

จำนวนตัวเลขประชากรที่ยังไม่ฉีดวัคซีนหรือไม่มีหลักฐานการหายจากอาการติดเชื้อโควิด-19 ล่าสุดอยู่ที่ 2 ล้านคนโดยประมาณ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะได้รับอนุญาตให้ออกจากบ้านได้ เพียงแค่ไปทำงาน ไปร้านค้าต่างๆ ตามความจำเป็น เช่น ซื้ออาหาร หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น โดยมาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายนเป็นต้นไป เบื้องต้นจะใช้เป็นเวลา 10 วัน และให้การยกเว้นแก่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และคนที่เพิ่งหายจากโควิด-19

สำหรับคนที่ไม่ฉีดวัคซีนแล้วฝ่าฝืนล็อกดาวน์ รัฐมนตรีสาธารณสุขออสเตรียกล่าวเตือนว่าอาจจะถูกปรับราว 500 ยูโร หรือประมาณ 18,483 บาท (*อัตราแลกเปลี่ยน ณ 17 พ.ย. 64 : 36.97 บาท)

อย่างไรก็ตาม ในหลายๆ เมืองยังคงมีการตั้งคำถามว่า การขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวนี้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยพรรคขวาจัดของออสเตรียระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้นนี้อาจก่อให้เกิดกลุ่มพลเมืองชั้นสองในประเทศได้

ทั้งนี้ ประชากรออสเตรียที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว อยู่ที่ประมาณ 65% ซึ่งนับเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในแถบยุโรปตะวันตก ขณะเดียวกัน อัตราการติดเชื้อในรอบ 7 วัน มากกว่า 800 รายต่อ 100,000 คน นับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุดในภูมิภาค

2. เนเธอร์แลนด์

ทางรัฐสภากำลังหารือถึงความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรการบางอย่างกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง เหมือนเช่นเดียวกับออสเตรีย โดยมาตรการที่คาดว่าจะนำมาใช้ คือ “โมเดล 2G” ที่มาจากคำว่า G “Gevaccineerd” หมายถึงฉีดวัคซีนแล้ว และ G “Genezen” หมายถึงหายจากโควิด-19 แล้ว

ซึ่งประชากรภายใต้ระบบ 2G นี้ จะได้รับคิวอาร์โค้ด หรือบาร์โค้ด ที่ยืนยันว่าได้รับวัคซีนครบเกณฑ์หรือหายจากโควิด-19 แล้ว เพื่อใช้ในการเข้าสู่อาคารหรือสถานที่ในร่มต่างๆ เช่น พิพิธภัณฑ์ ร้านอาหาร และคอนเสิร์ต

ทั้งนี้ก็ยังมีอีก G ที่เนเธอร์แลนด์ใช้ โดยมาจากคำว่า “Getest” หมายถึงตรวจเชื้อโควิด-19 แล้ว และมีผลการตรวจเชื้อเป็น “ลบ” แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการยกเลิก G นี้ออกไป จากที่เป็น “เงื่อนไข” ให้กับคนไม่ฉีดวัคซีนและคนไม่มีหลักฐานการหายจากโควิด-19 ในการเข้าถึงอาคารหรือสถานที่ในร่มสาธารณะต่างๆ ได้

แน่นอนว่า การใช้ 2G แทน 3G ของเนเธอร์แลนด์ ทำให้เกิดการแบ่งแยกคนไม่ฉีดวัคซีนออกจากการดำเนินชีวิตประจำวันตามสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับเหมือนเช่นคนอื่นๆ หมู่มาก เช่น การรับประทานอาหารภายในร้าน การเข้าร่วมคอนเสิร์ต และการนั่งที่บาร์ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ หนึ่งในนั้น คือ เธียร์รี เบาเดต์ ผู้นำพรรคประชาธิปไตย ที่ออกมากล่าวโต้แย้งเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ว่า “นโยบายจำกัดการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ จะทำให้คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนกลายเป็นยิวรุ่นใหม่” และอ้างถึงการปฏิบัติของนาซีในช่วงทศวรรษที่ 1930-1940 ที่มีการกีดกันชาวยิวจากการมีส่วนร่วมปกติในสังคม

ปัจจุบัน ประชากรในเนเธอร์แลนด์ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้วประมาณ 84%

3. เยอรมนี

มีการนำนโยบาย 2G มาใช้เช่นกัน โดยกีดกันคนที่ไม่ฉีดวัคซีนออกจากพื้นที่ในร่มอันเป็นสาธารณะ นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2564 ตัวอย่างเช่น ในเบอร์ลิน มีเพียงคนที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้วเท่านั้น หรือหายจากโควิด-19 ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และการเล่นกีฬาในร่มต่างๆ ได้

4. เช็ก

กำลังมีการพิจารณาแนวทางเดียวกับออสเตรีย นั้นคือ การล็อกดาวน์พื้นที่ต่างๆ สำหรับคนที่ไม่ฉีดวัคซีน โดยยังไม่มีการเห็นชอบนโยบายออกมาอย่างเป็นทางการ

5. เบลเยียม

รัฐบาลเบลเยียมกำลังมีการทบทวนความเป็นไปได้ในการนำระบบ 2G มาใช้

6. ฝรั่งเศส

ขณะนี้ ยังไม่มีกฎระเบียบที่เป็นส่วนร่วมทางนโยบายอย่างเป็นทางการ และยังไม่มีการพิจารณาล็อกดาวน์ในบางประเภท หรือการนำระบบ 2G มาใช้บังคับ แต่ใช้ระบบ COVID Pass แทน หรือการขอบัตรรับรองทางสุขภาพ คล้ายกับเงื่อนไขในกฎ 3G ที่อนุญาตให้เข้าบาร์ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ได้ เพียงแต่ต้องมีการตรวจหาเชื้อ ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ หรือมีสถานะยืนยันหายจากโควิด-19 แล้ว

7. อิตาลี

แม้จะยังไม่มีกฎเข้มงวดเกี่ยวกับคนไม่ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะ แต่มีข้อกำหนดให้ประชาชนต้องแสดง COVID Pass เพื่อเข้าสถานที่ทำงานทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงใช้สำหรับการเดินทางระหว่างเมืองโดยรถไฟ

8. รัสเซีย

เพียงแค่ 35% ของประชากรเท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว โดยปัจจุบัน ภายในมอสโก มีการล็อกดาวน์บางส่วน ด้วยการสั่งปิดร้านค้าต่างๆ ร้านอาหาร และโรงเรียน และให้แรงงานหยุดงานเป็นเวลา 9 วัน แต่ยังได้รับค่าจ้าง

9. สิงคโปร์

ปัจจุบัน มีการออกมาระบุระเบียบว่า กลุ่มคนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนโดยเป็นทางเลือกของตัวเอง จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองหากเกิดการติดเชื้อ นับตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นไป

อย่างไรก็แล้วแต่… สหราชอาณาจักร หนึ่งในประเทศที่มีอัตราการติดเชื้อรายใหม่สูงที่สุด ยังคงไม่มีการนำมาตรการควบคุมหรือจำกัดสิทธิ์ต่างๆ ออกมาใช้ ถึงแม้ว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขและสุขภาพต่างๆ จะออกมาเรียกร้องถึงกฎเกณฑ์หรือมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมากและพื้นที่ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดการแพร่ระบาดซ้ำรอย เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤติในฤดูหนาว

ทางเลือก กับความเสี่ยง

เหตุผลที่ต้องออกมาตรการเช่นนี้ เพราะก่อนหน้านี้มีการออกมาพูดอย่างมากในมุมของสาธารณสุขว่า “คนไม่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ก่อให้เกิดความเสี่ยงกับพวกเราทุกคน”

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ “ซีดีซี” (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) พบว่า ราว 25% ของผู้ใหญ่ชาวอเมริกัน ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 และยังมีพื้นที่จำนวนมากในหลายภูมิภาคที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต่ำอย่างยิ่ง ซึ่งสามารถกลายเป็น “พื้นที่เสี่ยงภัย” ได้อย่างง่ายดาย หากพวกเขาได้รับเชื้อไวรัส

“ภายใต้มาตรการคำสั่งฉีดวัคซีนจะช่วยปิดกั้นโอกาสในการเกิดเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ได้ ขณะเดียวกัน ประชากรจำนวนมากที่ยังไม่ฉีดวัคซีนก็อาจจะทำให้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์และมีสายพันธุ์มากขึ้น”

ศาสตราจารย์ คริสโตเฟอร์ มาร์ติน ประจำมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย อธิบายเพิ่มเติมว่า โลกของเราเชื่อมโยงถึงกัน ดังนั้น สายพันธุ์ต่างๆ ก็สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น สายพันธุ์เดลตา ที่ได้รับการยืนยันครั้งแรกในอินเดียช่วงปลายปี 2563 ต่อมาในสหรัฐอเมริกาช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2564 และในเดือนกรกฎาคม กว่า 80% ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอเมริกาเป็นสายพันธุ์เดลตา จนถึงตอนนี้ คนที่ไม่ฉีดวัคซีนเหมือนว่าจะมีโอกาสสัมผัสและแพร่เชื้อโรคได้มากกว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้ว

“ประชากรทั่วโลกจะยังคงอยู่บนความเสี่ยงไปอีกนานเท่านาน อันเป็นผลจากคนไม่ฉีดวัคซีนยังมีอยู่ทุกที่ในโลก”

ดังนั้น จึงเป็นภารกิจและหน้าที่ของรัฐบาลทุกประเทศในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้ครบคลุมอย่างทั่วถึงและเร็วที่สุดให้กับคนที่อยากฉีดวัคซีน แต่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

ขณะที่ หลายฝ่ายมองว่า ไม่ว่าจะเป็นการออกข้อกำหนด COVID Pass หรือกฎ 3G/2G ล้วนมีส่วนทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะยังไม่สามารถหยุดยั้งการติดเชื้อโควิด-19 ได้อย่างที่หวังก็ตาม

แต่ที่ต้องจับตา คือ นโยบายล็อกดาวน์คนไม่ฉีดวัคซีนของออสเตรีย หากสามารถโน้มน้าวให้คนเข้ารับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นได้ และควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ก็อาจไม่แน่ว่า “กลเม็ด” ที่ว่านี้จะถูกรัฐบาลประเทศอื่นๆ หยิบยกมาใช้หรือปรับนโยบายให้มีความคล้ายคลึงกันก็เป็นไปได้.

ที่มา : https://www.thairath.co.th/