ป่วยน้อยให้กักตัวบ้าน กินยาเอง แก้เตียงไม่พอ สกัดก่อสร้างแตกฮือ รับมือกลับภูมิลำเนา
ทั่วประเทศผวาแรงงานก่อสร้างเมืองกรุงฮือแตกรังคืนถิ่น สั่งงัดทุกมาตรการคุมเข้ม-สกัดแหลก-เพิ่ม รพ.สนาม หวั่นเชื้อแพร่กระจาย หลัง ศบค.ออกประกาศกลางดึก ปิดล็อกแคมป์คนงานก่อสร้างใน กทม. และปริมณฑล รวม 4 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมห้ามนั่งทานอาหารในร้านอีกรอบ ทำนายกสมาคมภัตตาคารไทย จวกหนักเหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ อัดสั่งคุมเข้มแต่ไร้มาตรการเยียวยา แนะรัฐช่วยอุดหนุนข้าววันละ 2 แสนกล่อง แจกแคมป์คนงาน หวังพยุงร้านอาหารในช่วง 1 เดือน ขณะที่ กทม.เจอครบเชื้อ “เดลตา-เบตา” จับตาติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียว ส่อพบในพื้นที่แออัด รวมถึงแคมป์คนงาน ด้าน สธ.เล็งแก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่พอ ผุดแนวทางให้ผู้ติดเชื้อกักตัวอยู่บ้าน แจกเวชภัณฑ์-ยาให้ดูแลตัวเองระหว่างรอเตียง
จากกรณีเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คําสั่ง ศบค.ที่ 6/2564 เมื่อช่วงตีหนึ่งวันที่ 27 มิ.ย. มีสาระสำคัญกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ กทม.และปริมณฑล กับ 4 จังหวัดชายแดนใต้ มีผลตั้งแต่ 28 มิ.ย. เป็นต้นไป เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หลังพบผู้ติดเชื้อ 3-4 พันคน ผู้ป่วยเสียชีวิตเฉียดครึ่งร้อยต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง
โควิด กทม.-ปริมณฑลยังสูง
ต่อมาช่วงเช้าวันที่ 27 มิ.ย. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เรียกประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ปริมณฑล ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น และในพื้นที่ภาคใต้บางจังหวัดต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด จำนวนผู้ติดเชื้อจากระบบบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงต้องใส่เครื่องช่วยหายใจมีมากขึ้น พื้นที่โรงงาน ตลาด แคมป์ก่อสร้าง ยังคงเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ผู้ติดเชื้อมีลักษณะเป็นกลุ่มก้อนจากงานเลี้ยง ที่น่าเป็นห่วงคือพื้นที่ภาคใต้มีแนวโน้มการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้น และตรวจพบโรคสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคกลาง พบผู้ติดเชื้อจากสถานประกอบการ โรงงานและตลาดขนาดใหญ่
โฆษกฯย้ำไม่ได้ล็อกดาวน์
ต่อมานายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประกาศข้อกำหนดฉบับที่ 25 ที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาล่าสุด เป็นการใช้มาตรการเร่งด่วนเพื่อควบคุมการระบาดโควิด-19 ในพื้นที่เป้าหมายเฉพาะ 10 จังหวัด สกัดกั้นไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มแรงงาน สถานประกอบการ ยืนยันว่าไม่ได้ล็อกดาวน์ เพราะข้อสรุปคำสั่ง ศบค.ที่ 6/2564 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.2564 สรุปได้ 5 ข้อคือ ปิดสถานที่พักอาศัยชั่วคราว สําหรับคนงานทั้งภายในและภายนอก สถานที่ก่อสร้าง รวมทั้งให้หยุดงานก่อสร้าง และห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว อย่างน้อย 30 วัน ให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มเฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้าน ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดดำเนินการได้ถึงเวลา 21.00 น. งดการจัดกิจกรรมในพื้นที่ โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ สวนนํ้า งดนั่งรับประทานในศูนย์อาหาร งดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
ตั้งจุดตรวจเข้าออก 10 จว.
นอกจากนี้ กำหนดให้ตั้งจุดตรวจเพื่อคัดกรองการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา รวมถึงกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัดปริมณฑล คือ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เป็นข้อกำหนดที่เข้มข้น ยกระดับมาตรการเป็นการชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์การแพร่ระบาด มีผลในพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงสูง ประชาชนทั่วไปยังสามารถเดินทางและดำเนินกิจกรรมประจำวันตามปกติ และขอให้หลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดในช่วงนี้
โวยเหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวัน
วันเดียวกัน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงคำสั่งให้จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม เฉพาะนำกลับไปบริโภคที่บ้าน เป็นเวลา 1 เดือน ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารไม่ว่ารายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ เจอเหมือนกันหมด เหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆซ้ำๆกัน 4-5 หน ตายก็ไม่ตาย นอนพะงาบๆแบบทรมาน ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือใดๆมาช่วยรักษา อยู่กลางแดดร้อนระอุ เพื่อรอเวลาตายอย่างเดียว เพราะรายได้ 90 เปอร์เซ็นต์ของร้านอาหารมาจากคนนั่งในร้าน แต่รัฐบาลเล่นออกมาตรการมาควบคุม โดยไม่มีการเยียวยาใดๆ
กิจการกระทบเป็นลูกระนาด
นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวอีกว่า ที่รัฐบาลบอกว่าจะนำเงินกู้โควิดก้อนใหม่มาช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งร้านอาหาร ยังต้องรอไปอีก 2 เดือน กว่าจะถึงตอนนั้นในช่วง 1 เดือนนี้ ร้านอาหารตายหมดแล้ว จะส่งผลกระทบไปถึงตลาดขายของไม่ได้ คนในภาคเกษตรขายผลผลิตไม่ได้อีก และในความเป็นจริงของร้านอาหารหลายแสนแห่งนั้น ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคมเพียง 15,000 แห่ง ฉะนั้นต่อให้รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงานก็ช่วยร้านอาหารได้เพียงบางส่วน แต่อีกหลายแสนร้านอาหาร ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของร้านอาหารทั้งหมดจะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะลูกจ้างนับล้านคนไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม
แนะซื้อข้าวกล่องแจกแคมป์
“สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยแบบเฉพาะหน้าในตอนนี้เลย คือให้รัฐบาลไปหาเงิน ไม่ว่าจะเป็นเงินของรัฐหรือรับการสนับสนุนจากภาคเอกชน นำไปจัดซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารวันละ 200,000 กล่อง ในราคากล่องละ 50 บาท เท่ากับใช้เงินวันละ 10 ล้านบาท หรือเดือนละ 300 ล้านบาท มาช่วยพยุงร้านอาหารในช่วง 1 เดือนนี้ก่อน รัฐบาลสามารถเอาอาหารไปแจกที่แคมป์คนงานก่อสร้างที่รัฐบาลสั่งปิดก็ได้” นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าว
ปิดแคมป์เมกะโปรเจกต์ระส่ำ
ขณะที่นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากคำสั่งปิดสถานที่ก่อสร้าง ยอมรับว่ากระทบต่อโครงการก่อสร้างของ กทพ. 2 โครงการ คือ 1.โครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 (งานโยธา) ช่วงตั้งแต่เซ็นทรัลพระราม 2 ถึงโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ที่มีกลุ่มบริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัย เป็นผู้ก่อสร้าง ขณะนี้คืบหน้าไปเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น และสัญญาที่ 4 งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ก่อสร้างโดยกลุ่มบริษัท ช.การช่าง คืบหน้าไปเพียงร้อยละ 40 และ 2.โครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของ กทพ. บริเวณพระราม 9 ก่อสร้างไปแล้วกว่าร้อยละ 99.99 ไม่กระทบมากนัก เช่นเดียวกับนายอภิชาติ จันทรทรัพย์ รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง ศบค. โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บางใหญ่-กาญจนบุรี และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ช่วงบางปะอิน-โคราช ทางหลวงจะประเมินถึงผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากปิดระยะเวลานาน
คาดเสียหายวันละ 2 พันล้าน
ส่วนการประเมินความเสียหายจากการยกระดับมาตรการคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากรัฐบาลในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นไว้ว่า จะเสียหายเพิ่มจากเดิม ประมาณวันละ 1,000-2,000 ล้านบาท เป็นการเพิ่มจากเดิมมาก เพราะรัฐบาลเพิ่งคลายกฎให้กลับมานั่งรับประทานในร้านอาหารได้ร้อยละ 50 ไม่นานนัก และยังไม่แน่ใจในรายละเอียดของมาตรการที่อาจมีเพิ่มอีก โดยรวมแล้วจะมีความเสียหายเกิดขึ้นประมาณเดือนละ 30,000-60,000 ล้านบาท ทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงราวร้อยละ 0.1-0.3
ยันเดินหน้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์
ขณะเดียวกัน นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่ายังยืนยันโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่ต้องกักตัว เริ่มต้นในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ยังสามารถเดินหน้าได้ เพราะภูเก็ตไม่ใช่ประเทศไทยทั้งประเทศ ภูเก็ตวันนี้มียอดคนติดเชื้อเพียง 1 คนเท่านั้น เชื่อว่า 1 ก.ค.นี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงเดินหน้าเข้าไทยตลอดทั้งเดือน ก.ค. เชื่อว่าจะรับต่างชาติได้ประมาณ 10,000 คน สูงกว่า 6 เดือนแรกของปีนี้ ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยเดือนละ 6,000 คนเท่านั้น และหากกักตัวครบ 14 วัน ตามมาตรการด้านสาธารณสุข ยังสามารถเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เดินทางไปยังจังหวัดอื่นๆในประเทศไทยได้ไม่มีข้อห้าม
ติดเชื้อใหม่เฉียด 4 พันราย
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันที่ 27 มิ.ย. ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,995 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,915 คน จากเรือนจำและที่ต้องขัง 45 คน และมาจากต่างประเทศ 35 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 244,447 คน ผู้หายป่วยเพิ่ม 2,253 คน อยู่ระหว่างการรักษา 43,607 คน อาการหนัก 1,725 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 489 คน เสียชีวิตเพิ่ม 42 คน เป็นชาย 27 คน หญิง 15 คน จำนวนนี้อยู่ใน กทม. 27 คน ฉะเชิงเทรา นครปฐม ปทุมธานี จังหวัดละ 2 คน เพชรบุรี ชลบุรี นครราชสีมา นนทบุรี ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา อุดรธานี และอุทัยธานี จังหวัดละ 1 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิตสะสม 1,912 คน การฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 74,075 โดส รวมทั้งสิ้น 9,055,141 โดส
ตจว.พบอีก 7 คลัสเตอร์
10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุด ได้แก่ กทม. 1,370 คน สมุทรสาคร 289 คน สมุทรปราการ 231 คน นนทบุรี 195 คน ปัตตานี 189 คน ชลบุรี 155 คน สงขลา 133 คน ปทุมธานี 126 คน ยะลา 94 คน ฉะเชิงเทรา 93 คน มีคลัสเตอร์ใหม่ในหลายจังหวัด ประกอบด้วย บริษัทอุตสาหกรรมเสื้อผ้า อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วย 16 คน ตลาดพิชัย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พบผู้ป่วย 13 คน ตลาดพงษ์ศักดิ์ อ.เมืองชลบุรี พบผู้ป่วย 11 คน บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา พบผู้ป่วย 21 คน บริษัทผลิตชิ้นส่วนเชิงกล อ.เมืองลพบุรี พบผู้ป่วย 8 คน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ อ.เมืองสุพรรณบุรี พบผู้ป่วย 6 คน ศูนย์ฝึกตำรวจภูธร อ.เมืองสุราษฎร์ธานี พบผู้ป่วย 21 คน ส่วนคลัสเตอร์ กทม. ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 111 แห่ง
เตรียมออกแนวทางช่วงรอเตียง
ต่อมา นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการ แพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯและปริมณฑลว่ายังไม่ดีขึ้น มีผู้รอเตียงที่บ้านจำนวนมาก ผู้ที่แจ้งประสานเตียงผ่านสายด่วน 1668 รอเตียงอยู่ราว 400-500 คน ในวันที่ 28 มิ.ย. จะมีการออกแนวทางการดูแลตัวเองที่บ้านของผู้ป่วยระหว่างรอเตียง (Home Isolation) เป็นการให้คำแนะนำในการดูแลระหว่างที่รอการเข้ารับการรักษาใน รพ. แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกรายต้องใช้แนวทางนี้ จะมีการคัดกรองเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่ว่ากรณีใดที่ให้ดูแลที่บ้านก่อน รายใดที่จำเป็นต้องรับเข้ารักษาทันที ในรายที่พิจารณาว่าสามารถรอเตียงอยู่ที่บ้านได้นั้น จะมีการแจกอุปกรณ์เครื่องมือในการติดตามอาการเบื้องต้น เช่น ปรอทวัดไข้ กับที่วัดออกซิเจน รวมถึงจะมีเทเลเมดสอบถามอาการทุกวัน และอาจจะมีคนไปเยี่ยมบ้านในบางราย
เน้นใช้ใน กทม.-ปริมณฑลก่อน
ผู้ป่วยที่เจ้าหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นแล้วเห็นว่าสามารถดูแลตัวเองที่บ้านระหว่างรอเตียงได้ ไม่มีปัญหาเรื่องของการแยกตัว จะให้อยู่ที่บ้านเพื่อรอเตียงก่อน แต่ถ้าผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง แต่ยังไม่มีอาการ อาจจะให้ยาฟาร์วิพิราเวียร์กินที่บ้านด้วย ถ้าสบายดีไม่มีอาการอะไรเลยอาจจะให้ฟ้าทะลายโจรกิน ส่วนรายที่มีอาการหนักจะรีบประสานเตียงให้เข้าสู่การรักษาโดยเร็ว ทั้งนี้ แนวทาง Home Isolation หลักจะใช้ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่มีปัญหาเรื่องเตียงก่อน ขณะนี้ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้เริ่มจะมีปัญหาเรื่องเตียงเช่นกัน
เข้ม 3 มาตรการลดผู้ติดเชื้อ
นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญคือจะต้องลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงให้ได้ ต้องดำเนินการใน 3 เรื่อง คือ 1.มาตรการรัฐบาลต้องเข้มพอ 2.ประชาชนผู้ประกอบการและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ ไม่ใช่ปิดแคมป์แล้วแยกกันหนีออกต่างจังหวัด และ 3.มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคต้องเข้มแข็งในทุกระดับทุกพื้นที่ ถ้า 3 เรื่องนี้ดำเนินการได้ดี ผู้ติดเชื้อไม่มากขึ้น มีการปรับเรื่องเตียงไปตามสถานการณ์ มีการจัดทำ Home Isolation และมีกระบวนการทุกคนมาร่วมกันหมดจริงๆ เชื่อว่าสถานการณ์เตียงจะค่อยๆดีขึ้น ทั้งนี้ ต้องหาทางเอาตัวเลขที่แท้จริงออกมาให้ได้
เตียงว่างเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 20
สำหรับสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯและปริมณฑล ข้อมูล ณ วันที่ 25 มิ.ย.2564 แยกเป็น AIR-ICU ว่าง 38 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 88.6 Modified AIR ว่าง 54 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 92.8 ห้องไอซียูรวม ว่าง 27 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 91.5 ห้องแยก ว่าง 458 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 88.4 ห้องสามัญ ว่าง 1,406 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 83.5 ฮอสพิเทล ว่าง 3,063 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 77.3 และเตียงสนาม ว่าง 778 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 76.9 รวมว่าง 5,824 เตียง อัตราครองเตียงร้อยละ 81
สั่ง รพ.ทุกจังหวัดรับมือ
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมมาตรการรองรับแรงงานบางส่วนที่เดินทางกลับภูมิลำเนาจากการปิดแคมป์คนงานใน กทม.และปริมณฑล รวมถึง 4 จังหวัดภาคใต้ ให้กรมควบคุมโรคทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด จัดตั้งทีมค้นหา เฝ้าระวังและป้องกันโรคในทุกอำเภอ หมู่บ้าน และให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมทีมออกเคาะประตูบ้าน เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา และให้ความรู้ในการแยกตัวสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นทั้งในที่พักจนครบ 14 วันนับจากวันที่เดินทางมาถึงภูมิลำเนา และให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เตรียมพร้อมด้านบุคลากร ยา เวชภัณฑ์ในการดูแลผู้ป่วย
รับอาสาฯสายด่วนหาเตียง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า สปสช.เปิดสายด่วน 1330 ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มระดับ 2,000-3,000 รายต่อวัน ทำให้มีผู้ติดเชื้อโทร.เข้าสายด่วน 1330 จำนวนมากจนเกินศักยภาพที่ทีมสายด่วน 1330 จะดำเนินการจัดหาเตียงให้ได้ทัน สปสช.ขอประกาศรับสมัครจิตอาสาบุคลากรสายสุขภาพเพื่อเข้ามาผนึกกำลังกับเจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ในการทำหน้าที่คัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 แบ่งเป็นสีเขียว เหลือง แดง เพื่อให้การจัดหาเตียงเป็นไปอย่างรวดเร็ว จิตอาสาต้องเป็นบุคลากรสุขภาพ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด ที่ไม่มีภาระงานประจำ หรือเกษียณอายุราชการ สมัครได้ที่โทร.0-2554-0506
แนะตรวจหาเชื้อทุก 7 วัน
วันเดียวกัน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงมาตรการที่ ศบค.ออกมาขณะนี้ว่า อาจช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่จะมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากเชื้อแพร่กระจายในระดับชุมชนทั่วไป ตามครอบครัว ตามบ้านเรือนและส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน คนในครอบครัว สิ่งสำคัญต้องมีการตรวจเชื้อทุกคน แต่จุดอ่อนของการตรวจด้วยการใช้ชุดตรวจ ความไวไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากชุดตรวจมีความไวเต็มร้อย แต่ปัญหาคือการตรวจเองตามแล็บเอกชน เมื่อรู้ผลก็หา รพ.ไม่ได้อีก ประชาชนที่ทำกันอยู่ เมื่อพบว่าผลบวกก็จะกักตัวที่บ้าน จนเริ่มมีอาการจะหาที่เข้า รพ. และพอไม่มีที่ เพราะเตียงเต็ม คนไข้ก็อาการหนัก อย่างที่เห็นกัน ขอเสนอว่าต้องมีห้องไอซียูที่มีเครื่องช่วยหายใจแบบสอดท่อได้ รองรับคนไข้ที่หายใจเองไม่ได้ ส่วนการหยุดยั้งแพร่กระจายเชื้อในชุมชน บ้านเรือนต้องคัดกรองทุก 7 วัน กระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาในการใช้ชุดตรวจที่มีความไว 100 เปอร์เซ็นต์ มาใช้กับประชาชนทุกครัวเรือน แม้ผลอาจได้ค่าบวกมากเกินจริง แต่ไม่เป็นไร เพราะให้กักตัวไว้ก่อน และให้มีการตรวจเชื้อ RT-PCR เพื่อยืนยัน เรื่องนี้ได้เคยเสนอที่ประชุม กระทรวงสาธารณสุขตั้งแต่เดือน มี.ค.แล้ว
ไทยพบเชื้อเดลตาร้อยละ 24
ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่พบมากในไทยขณะนี้ ประกอบด้วยสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ร้อยละ 69 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ร้อยละ 24 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ร้อยละ 4 และสายพันธุ์อื่นๆ เช่น สายพันธุ์ท้องถิ่น B.1.36.16 ที่ระบาดที่สมุทรสาคร ปทุมธานี ประมาณร้อยละ 3 สาย-พันธุ์เดลตาที่พบส่วนใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ ดังนั้นสายพันธุ์หลักๆที่แพร่กระจายอยู่คือ อัลฟาและเดลตาที่กำลังมีมากขึ้น แต่วัคซีนที่เรามีอยู่ยังสามารถรับมือได้ และวัคซีนไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ประมาณสิ้นปีนี้จะเห็นมียาต้านไวรัสออกมามีอยู่ 3 ตัวที่อยู่ในกระบวนการ
จับตาคนเดียวติด 2 สายพันธุ์
ศ.ดร.วสันต์กล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์อินเดียพลัส ประเทศอินเดียได้ปรับสถานะเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจนั้น ประเทศไทยยังไม่มีรายงานว่ามีเดลตาพลัส เท่าที่ติดตามข้อมูลเดลตาพลัสสามารถหลบเลี่ยงยาแอนติบอดีสังเคราะห์อยู่ประเภทหนึ่งเท่านั้น ยาตัวนั้นอนุมัติใช้ในอินเดีย แต่ที่อื่นไม่ได้ใช้กัน ไม่น่ากังวล ส่วนการเกิดภาวะที่เรียกว่า Mixed Infection คือการติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียว มีรายงานตรวจพบในต่างประเทศ แต่จำนวนไม่มาก เช่น บราซิล แต่ไม่น่ากังวล ยังไม่มีการบ่งชี้ทางคลินิกว่าจะมีอาการรุนแรงไปกว่าการติดเชื้อสายพันธุ์เดียว แนวทางการรักษาก็ยังเหมือนเดิม อาการไม่ได้รุนแรงเพิ่มขึ้น และไม่ได้แพร่ระบาดเร็ว ส่วนไทยจะมีลักษณะนี้หรือไม่ อยู่ระหว่างติดตามศึกษา หากจะมีเกิดขึ้นได้น่าจะเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นและมี 2 สายพันธุ์ระบาดในพื้นที่นั้นอย่างเช่น แคมป์คนงาน
พบเชื้อแอฟริกาโผล่กรุง
นอกจากนี้ มีแหล่งข่าวระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ล่าสุดมีรายงานพบเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ในพื้นที่ กทม.แล้ว เบื้องต้นพบ 1 ราย เชื่อมโยงมาจากผู้ติดเชื้อที่ จ.นราธิวาส ส่วนในรายละเอียดนั้นทราบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแถลงข่าวในเร็วๆนี้
มาจาก จว.เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน
ส่วนสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วประเทศ หลังมีประกาศคำสั่ง ศบค.ที่ 6/2564 เพื่อควบคุมสูงสุด 10 จังหวัดที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด- 19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแคมป์คนงานก่อสร้าง ปรากฏว่าตลอดวันที่ 27 มิ.ย. จังหวัดต่างๆ ได้ออกมาตรการรับมือแรงงานก่อสร้างแห่คืนถิ่น และสกัดไม่ให้มีการนำเชื้อโควิด-19 มาแพร่ระบาดในพื้นที่ โดยมีทั้งให้กักตัวคนที่มาจาก 10 จังหวัดดังกล่าวเป็นเวลา 14 วัน อาทิ จ.ขอนแก่น ขณะที่บางจังหวัดยังให้เฝ้าระวังเพิ่มผู้ที่มาจากอีก 5 จังหวัด ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สระบุรี ชลบุรี เพชรบุรี และตรังด้วย
ตั้งด่านสกัดผึ้งแตกรังทุกเส้น
นอกจากนี้ ทุกจังหวัดออกมาตรการตั้งจุดคัดกรอง ตรวจตราเพื่อคุมเข้มคนเดินทางเข้าพื้นที่ในทุกช่องทางทั้งทางรถยนต์ ทั้งรถโดยสาร รถส่วนบุคคล รถไฟ เครื่องบิน มีการกำชับผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ตรวจสอบและติดตามประชาชนในพื้นที่และผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาด โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ให้รายงานตัวต่อผู้ใหญ่บ้าน อสม. และกักกันตัวในบ้านหรือสถานกักตัวที่พื้นที่กำหนด รวมถึงงดการเรียนการสอนแบบปกติในโรงเรียน โดย จ.พิษณุโลก ตั้งด่านตรวจคัดกรอง ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย.-11 ก.ค.นี้ 5 ด่านหลัก ได้แก่ด่านวังเป็ด อ.บางระกำ ด่านสันติบันเทิง อ.บางกระทุ่ม ด่านคลองเมม อ.พรหมพิราม ด่านบ้านแยง อ.นคร-ไทย ด่านท่างาม อ.วัดโบสถ์ และด่านรองทุกแห่งในชุมชน/หมู่บ้าน ส่วนที่สถานีรถไฟพิจิตร มีการนำกำลังทุกภาคส่วนตรวจสอบผู้โดยสารที่มากับขบวนรถเร็ว กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ หลังพบมีคนจาก กทม.และปริมณฑลเข้ามาในจังหวัดแล้วราว 1.2 พันคน ส่วนที่ จ.ตาก ที่พบผู้ติดเชื้อโยงคลัสเตอร์โรงงานเย็บผ้าใน ต.แม่ตาว อ.แม่สอด อีก 452 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา ทำให้ผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้รวมแล้ว 528 คน และมีการปิดหมู่บ้าน
4 จชต.คุมเข้มหลังติดเชื้อพุ่ง
นอกจากนี้ หลายจังหวัดแจ้งข้อมูล ณ วันที่ 27 มิ.ย. ยังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่พุ่งต่อเนื่อง ทั้งที่ จ.ยะลา พบผู้ติดเชื้ออีก 98 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นรายที่ 11 ของจังหวัด เป็นหญิงอายุ 54 ปี ใน อ.กรงปินัง ส่งให้จังหวัดมีคำสั่งที่ 132/2564 ปิดสถานบริการ สถานบันเทิง ร้านเกม อินเตอร์เน็ต โต๊ะสนุ้กเกอร์ สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์แสดงสินค้า มหรสพ ยิม ฟิตเนส ส่วนห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ให้เปิดบริการได้จนถึงเวลา 21.00 น. ให้จำกัดจำนวนผู้ใช้บริการ งดบริการที่เป็นตู้เกม เครื่องเล่น สวนสนุก ส่วนร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เกต เปิดได้ระหว่าง 04.00-22.00 น. และตลาดนัด กำหนดทางเข้าออกทางเดียว มีจุดคัดกรองและบันทึกข้อมูลผู้ใช้บริการ ผู้ค้า ผู้ซื้อต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอด เวลา ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ระหว่างวันที่ 1-15 ก.ค.นี้ นอกจากนี้ ยังเตรียมขยาย รพ.สนาม ในโรงเรียนศึกษาพิเศษเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจชต. อ.เมืองยะลา เพิ่มอีก 3 อาคาร รวม 480 เตียง และเพิ่มเตียงผู้ป่วยอาการไม่หนักในทุกอำเภอ อาทิ รพ.ธารโต จะใช้แพท่องเที่ยวในเขื่อนบางลางเป็น รพ.สนาม
ปัตตานีพบยังฝ่าฝืนคำสั่ง
ส่วน จ.ปัตตานี พบผู้ติดเชื้อพุ่งอีก 155 คน จนต้องขยาย รพ.สนามแห่งที่ 4 ที่สนามกีฬากลางจังหวัด แต่แม้มีการทยอยปิดหลายหมู่บ้านใน 12 อำเภอ อาทิ ต.ตะลูโบะ ต.บาราเฮาะ ต.คลองมานิง ต.ปะกาฮารัง ต.บานา ในเขต อ.เมือง แต่ไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ ในจังหวัด แต่ก็ทำให้บรรยากาศในหมู่บ้านเงียบชาวบ้านเริ่มหวาดผวา ไม่กล้าออกนอกบ้าน ต้องสั่งอาหารกลับมากินที่บ้าน กระนั้นยังพบผู้ที่ถูกกักบริเวณในบางหมู่บ้านออกมาเดินเพ่นพ่านและขับรถออกไปนอกพื้นที่กักตัว เช่นเดียวกับร้านค้าในจังหวัดได้ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดควบคุมสูงสุดห้ามนั่งภายในร้านโดยเด็ดขาด ให้ใส่ห่อกลับบ้านเท่านั้น หากมีการฝ่าฝืนจะถูกจับและปรับทันที ก่อนหน้านี้ปรากฏว่ามีหลายร้านที่ถูกจับและปรับหลายร้านแล้ว ส่วน จ.นราธิวาส ก็ขานรับคำสั่ง ศบค.ปิดแคมป์คนงานก่อสร้างใน 10 จังหวัด ด้วยการมีการเข้มงวดจุดคัดกรองในถนนเพชรเกษม สายปัตตานี-นราธิวาส มีการเช็กประวัติผู้ขับขี่
เข้มงวดเข้าออกพื้นที่ควบคุม
เช่นเดียวกับ จ.สงขลา ที่พบผู้ติดเชื้ออีก 133 คน และการที่เป็น 1 ใน 10 จังหวัด ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดตามประกาศ ศบค. ที่ 6/2564 ทำให้การ เดินทางออกนอกจังหวัดต้องมีเอกสารระบุตัวตน และหนังสือรับรองความจำเป็น หรือเหตุเร่งด่วนจากเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการเดินทางไปมาในเขตรอยต่อ จ.สงขลา กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกจัดอยู่ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเช่นเดียวกัน
เมืองคอนสกัดเดินทางข้าม จว.
ส่วนนครศรีธรรมราช ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 23 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นชายวัย 88 ปี ชาว อ.พรหมคีรี เป็นผู้ป่วยในคลัสเตอร์โรงงานทองคำเปลว ต.ปากพูน อ.เมือง นอกจากนี้ จังหวัดยังกำหนดตั้ง จุดคัดกรองผู้เดินทางเข้าจังหวัดทางถนนสาย (4015) บ้านส้อง ให้ตั้งจุดคัดกรองที่ตำบลห้วยปริก เขตติดต่อ กับอำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานีและให้เน้นย้ำ ผู้ที่เดินทางจากการปิดล็อกดาวน์ กทม. และอีก 8 จังหวัด เพราะขณะนี้ในพื้นที่อำเภอฉวางกำลังเป็นคลัสเตอร์ใหม่ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน
โคราชตั้งตรวจ 3 จุด
จ.นครราชสีมา ผู้ติดเชื้อใหม่พุ่งขึ้นพรวด 47 คน ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นรายที่ 17 ของ จังหวัด และถือเป็นการเสียชีวิตติดต่อกันสามวันรวด โดยผู้ตายเป็นหญิงไทย อายุ 31 ปี ต.สูงเนิน เป็นโรคเบาหวาน มีน้ำหนัก 82 กิโลกรัม ส่วน อ.ปากช่อง ติดเชื้อรายใหม่ 12 คน จาก 2 คลัสเตอร์ ได้แก่ คลัสเตอร์บ้านบันไดม้า ต.ปากช่อง 4 คน และคลัสเตอร์ตลาดพวงทอง สระบุรี 6 คน ตามด้วย ต.กลางดง 1 คน เป็นรองนายกเทศมนตรีตำบลกลางดง และมาจาก กทม. 1 คน ขณะที่ อ.เสิงสาง ติดเชื้ออีก 2 คน 1 ในนั้นเป็นนักเรียนใน ต.โนนสมบูรณ์ ขณะที่ ตร.ภ.จ.นครราชสีมา เตรียมตั้งจุดสกัดไว้ 3 จุด บนถนน มิตรภาพทางหลวงหมายเลข 2 บริเวณ ต.กลางดง อ.ปากช่อง ถนนหมายเลข 304 ปักธงชัย-กบินทร์บุรี บริเวณจุดตรวจ อ.วังน้ำเขียว และถนนหมายเลข 226 นครราชสีมา-บุรีรัมย์ บริเวณจุดตรวจ ต.หินดาด อ.ห้วยแถลง ส่วนบรรยากาศ ที่ห้องโคราชฮอลล์ ศูนย์ การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา มีการฉีดวัคซีนซิโนแวค ของจังหวัดต่อเนื่องอีกวัน มีคนมาฉีดวัคซีนนับพันคน ทั้งฉีดเข็มแรกและเข็มสอง
ชัยภูมิยกการ์ดรับนับหมื่น
ส่วน จ.ขอนแก่น ติดเชื้อเพิ่ม 10 คน ส่วน จ.หนองบัวลำภู มี ตร.สภ.นากลาง และ สภ.ศรีบุญเรือง ติดเชื้อ สภ.ละ 1 นาย ขณะที่ จ.ชัยภูมิ ติดเชื้ออีก 9 คน ในจำนวนนี้ 5 คน อยู่ใน อ.หนองบัวระเหว เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ 3 หมู่บ้าน ในบ้านห้วยแย้ จากการดื่มเหล้าแก้วเดียวกัน ลงแขกลงแรงช่วยกันทำไร่มันและดำนาช่วยเพื่อนในหมู่บ้าน นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังเฝ้าระวังกลุ่มแรงงานจาก กทม.กลับมา บ้านเกิดใน 16 อำเภอ คาดมีนับหมื่นคน และจะดำเนินคดีกับผู้ที่กลับมาแล้วไม่กักตัว 14 วัน อย่างเด็ดขาด ขณะที่ จ.ปราจีนบุรี ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 60 คน จำนวนนี้มีถึง 44 คน มาจาก 2 คลัสเตอร์ โรงงานใน ต.หัวหว้า และ ต.ทำตูม อ.ศรีมหาโพธิ
ก่อสร้าง กทม.ติดเชื้อโผล่อุบลฯ
ด้าน จ.อุดรธานี มีการฌาปนกิจผู้ป่วยเสียชีวิต 1 คน เป็นชายอายุ 56 ปี อาชีพค้าขาย มาจาก จ.นนทบุรี พร้อมกันนี้จังหวัดมีคำสั่งปิดคำชะโนด ที่เดิมกำหนดเปิดให้คนเข้า 1 ก.ค.นี้ ให้เลื่อนเปิดไปไม่มีกำหนด และจะมีการใช้หอพักมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นที่กักตัว 14 วัน สำหรับคนงาน ก่อสร้างที่มาจาก กทม. เช่นเดียวกับ จ.อุบลราชธานี เจอติดเชื้อเพิ่มอีก 6 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 3 คน อายุน้อยสุดคือ 11 ขวบ โดย 3 ใน 6 คน เป็นแรงงานก่อสร้างใน กทม.
ชลบุรีติดเชื้อไม่แผ่ว-ปิดหาดดัง
ส่วน จ.ชลบุรี ที่ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 155 คน ส่วนใหญ่อยู่ใน อ.เมือง อ.ศรีราชา อ.บางละมุง และ อ.บ้านบึง นอกจากนี้ จังหวัดชลบุรี มีคำสั่งที่ 41/2564 ลงวันที่ 26 มิ.ย.2564 ปิดตลาดพงษ์ศักดิ์ ต.บ้านโขด อ.เมืองชลบุรี ไปจนถึง 10 ก.ค.2564 และงดใช้พื้นที่ชายหาด ชายทะเลของหาดบางแสน หาดวอนนภา แหลมแท่น ลานอเนกประสงค์แหลมแท่น และบริเวณจุดชมวิวเขาสามมุข ต.แสนสุข อ.เมืองชลบุรี ตั้งแต่เวลา 20.00-04.00 น. ของวันรุ่งขึ้น รวมถึงห้ามดื่มของมึนเมาทุกอย่างบริเวณชายหาด ส่วน จ.ระยอง ติดเชื้อเพิ่ม 14 คน
ต่างด้าวแคมป์นนท์เก็บของหนี
จ.นนทบุรี พบผู้ติดเชื้อ 187 คน หลักๆยังเชื่อมโยงกับตลาด แคมป์คนงาน ขณะเดียวกัน ช่วงสายวันเดียวกัน พ.ต.ท.สุพรรณ ขันอาษา สว.ป.สภ.ปากเกร็ด นายสุเจตน์ บุณยภักดิ์ ปลัดอำเภอปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมด้วย ตร. ฝ่ายปกครองและทหาร ปตอ.1 พัน 7 เข้าตรวจสอบแคมป์คนงานก่อสร้างบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด บริเวณทางเข้าชุมชนเคหะนนทบุรี ใกล้ห้าแยก-ปากเกร็ด ถนนติวานนท์ ต.ปากเกร็ด ที่พักคนงานก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) มีคนงานพักอาศัยประมาณ 1,700 คน หลังรับแจ้งแรงงานกำลังขนสัมภาระเดินทางออกจากแคมป์ เมื่อไปถึงพบสิ่งของสัมภาระบรรจุใส่กระเป๋าและลังขนาดใหญ่วางเรียงรายเป็นแถวยาวที่ริมถนนใกล้ประตูทางเข้า และแรงงานต่างด้าวจำนวนหนึ่งกำลังเตรียมขนของย้ายออกนอกพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งให้แรงงานทั้งหมดขนสิ่งของกลับเข้าที่พัก และเรียกผู้ควบคุมดูแลแรงงาน ตัวแทนของบริษัทซิโน-ไทยฯ ออกมาเพื่อแจ้งคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานทั้งหมด ให้ปิดแคมป์ก่อสร้างและหยุดการก่อสร้างเป็นเวลา 30 วัน ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี ให้ผู้ดูแลรับไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัด กระนั้นชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงแคมป์คนงานระบุว่าคนงานต่างด้าวขนข้าวของทยอยหลบหนีออกจากแคมป์ที่พักคนงานเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมาแล้ว
ซิดนีย์เริ่มล็อกดาวน์
ขณะที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อรวมเพิ่ม ณ วันที่ 27 มิ.ย. เขยิบมาที่ 181,589,116 คน เสียชีวิตรวม 3,933,787 คน ขณะที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย รวมนครซิดนีย์ เริ่มมาตรการล็อกดาวน์ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. จนถึง 9 ก.ค. ขอความร่วมมือประชาชนอยู่แต่ในที่พักอาศัย และปิดผับบาร์ สถานบันเทิง หลังพบผู้ติดเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา (จากอินเดีย) เพิ่มเป็น 110 คน และพบผู้ติดเชื้อในวันเดียว 30 คน ส่วนใหญ่เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ย่านหาดบอนไดในนครซิดนีย์ ส่วนที่กรุงอาบู ดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สื่อรอยเตอร์รายงานว่า หน่วยงานสาธารณสุขได้ยกเลิกการลงทะเบียนจองฉีดวัคซีนต้านไวรัสสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ปฏิเสธที่จะชี้แจงเหตุผลเพิ่มเติม
ที่มา : https://www.thairath.co.th/